วันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2555

วัสดุ/อุปกรณ์ในการทอผ้า

วัสดุและอุปกรณ์/การเตรียมด้าย ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดั้งนี้

                1. ดอกหวิง เป็นอุปกรณ์สำหรับหมุนเพื่อกรอเส้นด้ายสีต่างๆเข้าหลอดด้าย มีลักษณะคล้ายกังหันลมมีแกนกลางวางบนฐานไม้สองข้าง ส่วนกลางของ ดอกหวิงมี ช่องสำหรับใส่เส้นด้าย

                 2. ไน เป็นอุปกรณ์กรอเส้นด้ายอย่างหนึ่ง มีลักษณะเป็นช่องสำหรับใส่แกนม้วนด้ายซึ่งผูกโยงกับดอกหวิง ปัจจุบันมีการนำมอเตอร์ไฟฟ้ามาเป็นตัวช่วยหมุน เมื่อมอเตอร์ไฟฟ้าทำงาน เส้นด้ายในดอกหวิงจะหมุนด้ายมาเก็บไว้ในแกนม้วนด้าย

                  3. หลอดด้ายค้น ( ลูกค้น ) เป็นอุปกรณ์สำหรับใช้ในการค้นเส้นด้าย โดยเส้นด้ายทุกเส้นจะถูกม้วนหรือพันเก็บไว้ในหลอดค้น ซึ่งมีลักษณะเป็นหลอดยาวประมาณ 8 นิ้ว เส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 1 นิ้ว จำนวน 152 หลอด หลอดค้นทำจากไม้ไผ่ แต่ปัจจุบันใช้ท่อน้ำพลาสติกแทน

                 4. รางค้น เป็นอุปกรณ์สำหรับเรียงหลอดด้ายค้น เพื่อเตรียมไว้สำหรับขั้นตอนการเดินเส้นด้ายต่อไป รางค้นมีลักษณะเป็นแถว 2 ชั้น มีแกนสำหรับใส่หลอดด้ายค้นจำนวน 152 แกนอยู่บนเสาสูงประมาณ 1.5 เมตร ยาวประมาณ 5-8 เมตร
                 5. หลักค้น เป็นอุปกรณ์สำหรับพันเส้นด้ายที่ค้นตามจำนวนความยาวที่ต้องการมีลักษณะ เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ 2 เมตร ยาว 5-8 เมตร ที่หัวหลักค้นมีหลักสูงประมาณ 6 นิ้ว จำนวนประมาณ 20 หลักอยู่ทั้งสองด้าน

               6. ฟืม หรือฟันหวี มีลักษณะคล้ายหวี ยาวเท่ากับความกว้างของหน้าผ้าทำด้วยโลหะ มีลักษณะเป็นซี่เล็ก ๆ มีกรอบทำด้วยไม้หรือโลหะ แต่ละซี่ของฟืมจะเป็นช่องสำหรับสอดด้ายยืน เข้าไป เป็นการจัดเรียงด้ายยืนให้ห่างกันตามความละเอียดของเนื้อผ้า เป็นส่วนที่ใช้กระทบให้เส้นด้ายที่ทอเรียงติดกันแน่นเป็นผืนผ้า ฟืมสมัยโบราณทำด้วยไม้ แกะสลักเป็นรูปนกหรือเป็นลวดลายต่าง ๆ สวยงามมาก

              7. ตะขอเกี่ยวด้าย ( เบ็ดเข้าฟืม ) เป็นอุปกรณ์สำหรับเกี่ยวเส้นด้ายเข้าฟืม ทำด้วยเหล็กยาวประมาณ 8 นิ้ว ส่วนปลายทำเป็นตะขอไว้สำหรับเกี่ยวเส้นด้ายเข้าฟืม ซึ่งเส้นด้ายทุกเส้น จะต้องใช้ตะขอเกี่ยวด้ายสอดไว้ในฟืมจนเต็มทุกช่อง

                8. เครื่องรองตอนเข้าฟืม

                9. ลูกหัด ( ระหัด ) เป็นอุปกรณ์สำหรับม้วนเก็บเส้นด้ายที่ค้นเสร็จแล้ว มีลักษณะคล้าย ระหัดวิดน้ำ ซึ่งอยู่ที่ด้านปลายของแกนระหัดทั้งสองด้าน โดยหมุนม้วนเส้นด้ายเก็บไว้เพื่อเตรียมใส่ในเครื่องทอผ้า

                10. ไม้นัด เป็นไม้ที่สอดอยู่ในช่องด้ายยืน เพื่อช่วยให้ด้ายไม่พันกัน 

                11. ไม้ขัดด้าย หรือฟันปลา เป็นอุปกรณ์สำหรับขัดระหัดม้วนผ้าเพื่อไม่ให้ระหัดม้วนผ้า
ขยับเขยื้อนได้ ทำให้เส้นด้ายตึงอยู่ตลอดเวลา เมื่อถึงขั้นตอนการทอผ้าก็จะง่ายขึ้น

                12. เครื่องม้วนด้าย ใช้สำหรับม้วนด้ายเข้าหลอดด้ายยืน



วัสดุและอุปกรณ์/กี่ทอผ้า ประกอบด้วยส่วนต่างๆดังนี้

               1. ฟืม หรือฟันหวี มีลักษณะคล้ายหวี ยาวเท่ากับความกว้างของหน้าผ้าทำด้วยโลหะ มีลักษณะเป็นซี่เล็ก ๆ มีกรอบทำด้วยไม้หรือโลหะ แต่ละซี่ของฟืมจะเป็นช่องสำหรับสอดด้ายยืน เข้าไป เป็นการจัดเรียงด้ายยืนให้ห่างกันตามความละเอียดของเนื้อผ้า เป็นส่วนที่ใช้กระทบให้เส้นด้ายที่ทอเรียงติดกันแน่นเป็นผืนผ้า ฟืมสมัยโบราณทำด้วยไม้ แกะสลักเป็นรูปนกหรือเป็นลวดลายต่าง ๆ สวยงามมาก

               2. เขาหูก หรือ ตะกอ / ตระกอ คือส่วนที่ใช้สอดด้ายเป็นด้ายยืน และแบ่งด้ายยืนออก เป็นหมู่ๆ ตามต้องการ เพื่อที่จะพุ่งกระสวยเข้าหากันได้สะดวก เขาหูกมีอยู่ 2 อัน แต่ละอันเวลาสอดด้ายต้องสอดสลับกันไปเส้นหนึ่งเว้นเส้นหนึ่ง ที่เขาหูกจะมีเชือกผูกแขวนไว้กับด้านบน โดยผูกเชือก เส้นเดียวสามารถจะเลื่อนไปมาได้ส่วนล่างผูกเชือกติดกับคานเหยียบหรือตีนเหยียบไว้ เพื่อเวลา ต้องการดึงด้ายให้เป็นช่องก็ใช้เท้าเหยียบคานเหยียบนี้ คานเหยียบจะเป็นตัวดึงเขาหูกให้เลื่อนขึ้นลง ถ้าหากต้องการทอเป็นลายๆ ก็ต้องใช้คานเหยียบหลายอัน เช่น ลายสองใช้คานเหยียบ 4 อัน เรียก ทอ 4 ตะกอ ลายสามใช้คานเหยียบ 6 อัน เรียก ทอ 6 ตะกอ จำนวนตะกอที่ช่างทอผ้าเกาะยอใช้ มีตั้งแต่ 2–12 ตะกอ ผ้าผืนใดที่ทอหลายตะกอถือว่ามีคุณภาพดีมีลวดลายที่ละเอียด สวยงาม และมีราคาแพง

               3. กระสวย คือไม้ที่เป็นรูปเรียวตรงปลายทั้งสองข้าง ตรงกลางใหญ่ และมีร่องสำหรับใส่หลอดด้ายพุ่ง ใช้สำหรับพุ่งสอดไปในช่องด้ายยืนระหว่างการทอผ้า หลังจากที่ช่างทอเหยียบคานเหยียบให้เขาหูกแยกเส้นด้ายยืนแล้ว

               4.ไม้แกนม้วนผ้า หรือ ไม้กำพั่น ชาวบ้านเกาะยอเรียกว่า พั้นรับผ้า เป็นไม้ที่ใช้ สำหรับม้วนผ้าที่ทอแล้ว ไม้แกนม้วนผ้ามีขนาดความยาวเท่ากับกี่หรือเท่ากับความกว้างของหน้าผ้า

               5. คานเหยียบ หรือ ตีนเหยียบ เป็นไม้ใช้สำหรับเหยียบเครื่องบังคับตะกอ เพื่อให้เชือก ที่โยงต่อมาจากเขาหูกหรือตะกอดึงด้ายยืนให้แยกออกเป็นหมู่ ขณะที่ช่างทอพุ่งกระสวยด้ายพุ่ง เข้าไปขัดด้ายยืนให้เกิดเป็นลวดลายต่าง ๆ
               6. สายกระตุก หรือ เชือกดึงเวลาพุ่งกระสวย จึงเกิดศัพท์ว่า “กี่กระตุกโดยช่างทอผ้าจะใช้มือข้างหนึ่งกระตุกสายเชือกนี้ กระสวยก็จะแล่นไปแล่นมาเอง และใช้มืออีกข้างดึงฟืมให้กระแทก เนื้อผ้าที่ทอแล้วให้แน่น
                7. ระหัดถักด้าย เป็นไม้ระหัดสำหรับม้วนด้ายยืน

               8. หลอดด้ายพุ่ง เป็นหลอดไม้ไผ่ที่บรรจุด้ายสีต่าง ๆ สอดอยู่ในรางกระสวยเพื่อใช้พุ่ง ไปขัดด้ายยืนในขณะที่ช่างทอกำลังทอผ้าและกระตุกสายกระตุกไปหลอดเส้นด้ายพุ่งก็จะพุ่งไปขัดกับ เส้นด้ายยืนเกิดเป็นลายผ้าตามต้องการ

    9. หลอดด้ายยืน เป็นหลอดด้ายหลักที่ขึงอยู่ในกี่โดยสอดผ่านฟืมเรียบร้อยแล้ว มีลักษณะ อยู่ในแนวตั้ง

    10. ผัง เป็นไม้สำหรับค้ำความกว้างของผ้าให้หน้าผ้าตึงพอดีกับฟืม เพื่อว่าจะได้สะดวก เวลาทอ และเส้นด้ายตรงลายไม่คดไปคดมา ด้านหัวและด้านท้ายของผังจะผูกเข็มไว้เพื่อใช้สอดริมผ้าทั้งสองข้าง

              11. ไนปั่นด้าย เป็นอุปกรณ์ที่แยกออกมาจากกี่ทอผ้า ใช้สำหรับปั่นด้ายเข้ากระสวย และปั่นด้ายยืนเข้าระหัดถักด้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น